Document


ประวัติความเป็นมา สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จำกัด

       สหกรณ์โคเนื้อฯ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี  2536  เริ่มจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มีโครงการปรับปรุงพันธุกรรมและสมรรถภาพการผลิตโคพันธุ์กำแพงแสน  เมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งโครงการก็จะมีลูกโคทั้งเพศผู้  เพศเมีย  เพศเมียใช้เป็นแม่พันธุ์  เพศผู้มีเพียงบางส่วนที่สามารถนำมาเป็นพ่อพันธุ์ได้  โดยเฉลี่ยในเพศผู้  100  ตัว  สามารถทำเป็นพ่อพันธุ์ได้เพียง  20  ตัว  เท่านั้น  เลยเกิดปัญหาว่าโคที่เหลือจะไปทำอะไร  ก็เป็นจุดเริ่มต้นสหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด ขึ้นมา โดยสหกรณ์ดำเนินการ เปิดรับสมาชิกทั่วประเทศแต่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของโครงการปรับปรุงพันธุกรรมและสมรรถภาพการผลิตโคพันธุ์กำแพงแสน  และก็จะมีสมาชิกทั่วไป (ก็คือซื้อลูกโคมาขุนเอง โดยไม่มีแม่พันธุ์ก็ได้) ปัจจุบันสหกรณ์โคเนื้อฯ มีสมาชิก  จำนวน  228  คน

       โคพันธุ์กำแพงแสนเกิดจากโค  3  สายพันธุ์  คือ  พันธุ์พื้นเมืองไทยบราห์มันและพันธุ์ชาโลเลส์  การนำเอาโค  3  สายพันธุ์เข้ามาผสมกันก็คือการนำเอาข้อดีพันธุ์ไทยพื้นเมือง  ทนร้อน  เลี้ยงลูกเก่ง ให้ลูกมาก หรือเรียกง่ายๆ ว่ามีความสมบูรณ์พันธุ์ แต่ก็มีข้อเสีย คือโครงสร้างเล็กอัตราการเจริญเติบโตช้า ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็เลยนำโคพันธุ์บราห์มันซึ่งมี ข้อดีคือโครงสร้างใหญ่  เข้ามาปรับปรุงพันธุ์  โดยช่วงแรกการผสมใช้พันธุ์ พื้นเมืองไทย+พันธุ์บราห์มัน  ลูกที่ออกมาจะเป็น  50:50 เราก็จะทำการคัดเลือกตัวเมียมาแล้วผสมพันธุ์ชาโลเลส์เข้าไป  ข้อดีของพันธุ์ชาโลเลส์ก็คือเป็นโคทีมีอัตราการเจริญเติบโตสูง และมีลักษณะของการเป็นโคเนื้อมากก็คือมัดกล้ามเนื้อที่ดีมาก เมื่อผสมรวมกันแล้วก็จะได้โคที่มีทั้งอัตราการเจริญเติบโตที่ดีโครงสร้างที่ใหญ่  ความสมบูรณ์พันธุ์ยังดีอยู่ เหตุผลที่ไม่นำเอาพันธุ์บราห์มัน  มาผสมกับพันธุ์ชาโรเลส์ เพราะว่าพันธุ์บราห์มันมี ข้อเสียเป็นโคที่ค่อนข้างขี้อายและความสมบูรณ์พันธุ์ต่ำ

       ขั้นตอนการดำเนินงานสหกรณ์ รับลงทะเบียนโคที่เป็นพันธุ์กำแพงแสน หรือเลือกโคเนื้อสายเลือดยุโรป  50% เพศผู้เท่านั้น อายุประมาณ 10-24  เดือน (ฟันแท้ไม่เกิน1คู่) น้ำหนักประมาณ 350   กก.  โดยทางสหกรณ์มีอนุกรรมการฝ่ายผลิตเข้าไปสำรวจถ้าผ่านการตรวจก็ติดเบอร์ที่หูให้ภายใน  10  วัน  โดยสหกรณ์ก็จะแจ้งกลับไปยังตัวสมาชิกว่าโคตัวนี้สหกรณ์รับลงทะเบียนเข้าขุนแล้ว จากนั้นทางสหกรณ์ก็จะคำนวณอัตราการเจริญเติบโต และวันที่ส่งตลาดให้แก่สมาชิก อย่างคร่าวๆ  หลังจากนั้น อีก  90  วัน  ทางสหกรณ์ก็จะมีคณะอนุกรรมการออกไปตรวจแล้วก็ให้คำแนะนำอีกรอบส่วนน้ำหนักต้องอยู่ที่ประมาณ  550  กก. และต้องผ่านการขุนมา  8-10  เดือน เมื่อได้ตามหลักเกณฑ์ก็จะส่งเข้ามายังโรงฆ่า (โรงฆ่าของศูนย์วิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

       ธุรกิจด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์อยู่ในรูปเนื้อแช่แข็ง  จะแบ่งเป็น  2  ส่วน  ส่วนแรกส่งให้ตลาดทั่วไปก็คือ ห้าง/บริษัท  สหกรณ์จะบ่มซากที่  0-3  องศา ประมาณ  7  วัน  ก็ส่งขาย  อีกส่วนทางสหกรณ์ก็ตัดแต่งเอง  โดยตัดในรูปเนื้อถาด/เนื้อแพ็คลงถาด  บ่มประมาณ  14-20  วัน  แล้วแต่ชิ้นส่วนก่อนการส่งขาย  เหตุผลที่เราต้องบ่มก่อนส่งออกขายก็เพราะโคที่ฆ่ามาใหม่ๆ จะมีการทำงานของเซลล์ยังไม่สิ้นสุดเราต้องการให้การทำงานเซลล์  สิ้นสุดจะมีเอ็นไซส์มาย่อยสลายทำให้เนื้อนุ่มขึ้น (อายุของเนื้อขึ้นอยู่กับการเก็บรักษา)  เน้นที่โคอายุน้อยประมาณ  20-24  เดือน  น้ำหนักประมาณ  500-550  กก. และมีธุกิจสินเชื่อโดยสหกรณ์มีเงินกู้สำหรับการขุนโคให้สมาชิกกู้ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6ต่อปี โดยมีหลักเกณฑ์คือ โค 1 ตัว สามารถกู้ได้ 50,000 บาท สมาชิก 1 ราย กู้ได้ไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ หุ้นของสมาชิกที่มีอยู่กับสหกรณ์โคเนื้อและบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์โคเนื้อ

       สหกรณ์ให้ราคาตามคุณภาพซากที่สมาชิกทำได้  สมาชิกคนไหนเลี้ยงโคคุณภาพดี  ก็ได้ราคาสูงโดยสมาชิกจะเป็นผู้ขนส่งซากโคเข้ามาที่สหกรณ์เอง  พูดถึงรายได้ของสหกรณ์  ก็มาจากการขายหนังและเครื่องในที่มากับโค  รายได้จากการขายเนื้อตัดแต่ง  แต่เราเน้นที่สมาชิกอยู่ได้  โดยสหกรณ์เป็นคนกลางในการจัดจำหน่ายให้กับสมาชิกเท่านั้น   ผลิตภัณฑ์โคเนื้อที่สหกรณ์ต่างจากที่อื่น คือเป็นเนื้อปลอดสารพิษทางสหกรณ์จะไม่ใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดงในอาหาร และยาปฏิชีวนะ ที่มีส่วนเร่งการเจริญเติบโต

       ปัจจุบันสหกรณ์โคเนื้อฯ กำลังดำเนินการไปได้ดีความต้องการมีอยู่สูง แต่ลูกโคที่เข้าขุนยังมีปริมาณน้อยอยู่อยากให้เกษตรกรที่มีความสนใจที่จะเลี้ยงโคขุน เชิญมาเป็นสมาชิกที่สหกรณ์ฯ ได้และอย่าลืมโคหนุ่ม เนื้อนุ่ม ไขมันน้อย จากโคพันธุ์กำแพงแสน ของสหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน  จำกัด