|
|
00042 |
"มอนซานโต้"ชูธงขาว สลัดทิ้งฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ |
จำนวนผู้ตอบ
0
คน |
|
วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11111
"มอนซานโต้"ชูธงขาว สลัดทิ้งธุรกิจ"ฮอร์โมนจีเอ็มโอ"
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com
ตั้งแต่ปี 2536 ที่ฮอร์โมนเร่งเทียมการเจริญเติบโตของสัตว์ ซึ่งผลิตขึ้นด้วยวิธีดัดเแปลงวิศวพันธุกรรม หรือ เจนเนติค เอ็นจิเนียริ่ง ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (เอฟดีเอ) จัดเป็นหนึ่งในผลิตผลจากวิธีการดัดแปลงพันธุกรรมแรกๆ ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และมีอยู่ยี่ห้อเดียวเท่านั้นคือ "Posilac" ของยักษ์ใหญ่มอนซานโต้ ที่บุกหนักหน่วงกับธุรกิจการดัดแปลงพันธุกรรม
ฮอร์โมนดัดแปลงพันธุกรรม หรือ โพซิลแลค นี้ก็คือ "จีเอ็มโอ" ชนิดหนึ่งนั่นแหละครับ ที่ทำกับแบคทีเรียให้กลายเป็นฮอร์โมนสำหรับเร่งการเจริญเติบโตสำหรับวัวนม วัวที่ฉีดฮอร์โมนนี้เข้าไปจะให้น้ำนมเพิ่มขึ้นอีกราวๆ 1 แกลลอนต่อวัน แถมเอฟดีเอใจดีให้ไม่ต้องติดฉลากอีกด้วย
ดูจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นก็ยั่วยวนใจเจ้าของฟาร์มอยู่หรอก แลกกับผลข้างเคียงคือโรคเต้านมอักเสบอันเกิดจากการฉีดฮอร์โมนให้วัว สำหรับเกษตรกรอาจจะถือว่าคุ้ม และสำหรับมอนซานโต้ก็ยิ่งคุ้มมากขึ้นเพราะนอกจากขายฮอร์โมน แล้วขายยาได้เพิ่มอีกต่อหนึ่ง
ส่วนผลต่อนมที่จะมีการปนเปื้อนแบคทีเรียมากขึ้นนั้น เป็นเรื่องของผู้บริโภคไปว่ากันเอาเอง
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของกระทรวงเกษตรสหรัฐพบว่าในปี 2550 ที่ผ่านมา ฟาร์มวัวนมทั่วประเทศ 17 เปอร์เซ็นต์ ใช้ฮอร์โมนที่ว่านี้ ซึ่งสำหรับการเป็นเพียงเจ้าเดียวแล้วถือว่าน้อยไปหน่อย เหตุคงมาจากหลายส่วนด้วยกันก็คือ กระแสที่โยงใยมันเข้ากับเชื้อวัวบ้า และการที่ "จีเอ็มโอ" ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค โดยมีหลายกลุ่มที่ออกมารณรงค์ต่อต้านจีเอ็มอย่างเป็นล่ำเป็นสันตั้งแต่ช่วงแรกๆ และมอนซานโต้ก็ตกเป็นเป้าใหญ่มาโดยตลอด
แต่นั่นเฉพาะในอเมริกานะครับ เพราะโพซิลแลคนี่ขายไปทั่วโลกราวยี่สิบประเทศ
ล่าสุด เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง มอนซานโต้ออกมาแถลงว่าบริษัทกำลังพยายามจะหาทางขายธุรกิจฮอร์โมนเร่งความเจริญโตตัวของวัวนี้ทิ้งไป เพื่อจะหันไปมุ่งด้านธุรกิจเมล็ดพันธุ์ให้เต็มที่ยิ่งขึ้น แม้จะอ้างว่าธุรกิจโพซิลแลคยังเป็นธุรกิจที่เฟื่องอยู่ก็ตาม
แต่ไม่ค่อยมีคนเชื่อเท่าไหร่ เพราะถ้ามันยังดีอยู่จริงใครจะไปขายทิ้งกันดื้อๆ
การออกมาแสดงท่าทีว่าจะขายนี้เกิดขึ้นหลังจากผู้ค้าปลีกใหญ่น้อยหลายรายในสหรัฐ เช่น วอล-มาร์ต,โครเกอร์ และพับลิกซ์ หันมาขายนมสดบรรจุขวดจากฟาร์มที่ไม่ใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตดังกล่าว เหตุที่ผู้ค้าปลีกเหล่านี้หันมาขายนมสดจากวัวที่ไม่ใช้ฮอร์โมนจีเอ็มโอก็เพราะ "ลูกค้าต้องการ"
เมื่อลูกค้าต้องการ ผู้ค้าปลีกก็ตอบสนอง นี่เป็นไปตามที่พูดกันว่า "ลูกค้าเป็นผู้เขียนกฎ" ไม่ใช่บริษัทธุรกิจหรือหน่วยราชการใดๆ ผลก็คือ มอนซานโต้ต้องหาทางถอยไปจากธุรกิจนี้ แม้จะไม่มีวันถอยไปจากธุรกิจผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมก็ตาม
หลังจาก มอนซานโต้ต่อสู้มาราวๆ ปีหนึ่งที่จะให้ทางการสหรัฐใช้กฎหมายบังคับผู้ผลิตนมบรรจุขวดที่ไม่ใช้ฮอร์โมนให้เอาฉลากที่ติดว่า "ไม่ใช้ฮอร์โมน" ออกจากขวด โดยอ้างว่านมจากวัวที่ฉีดฮอร์โมนเร่งหรือไม่ได้ฉีดนั้นก็ไม่มีความแตกต่างกัน แต่ความพยายามของมอนซานโต้ไม่ประสบความสำเร็จ
เมื่อพ่ายในการล็อบบี้ระดับรัฐบาลกลาง ก็ยังไม่วายดอดไปเล่นในระดับมลรัฐจนหวุดหวิดจะผ่านได้ในเพนซิลเวเนีย แต่โดนผู้ว่าการรัฐเบรกเสียก่อนท่ามกลางการคัดค้านอย่างแข็งขันของผู้บริโภคในรัฐดังกล่าว
ในแง่การเล่นการเมืองรับประกันได้ว่ามอนซานโต้หาทางยอนแยงทุกช่องทางนั้นละครับ ไม่จำกัดเฉพาะในอเมริกาเท่านั้นด้วย เพราะถึงอย่างไร "จีเอ็มโอ" ก็คือเดิมพันใหญ่ของมอนซานโต้อยู่ดี
หน้า 6
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|